วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

นาฏการ (Dramatization)

         นาฏการ หมายถึง การแสดงต่าง ๆ ที่จัดขึ้นสำหรับถ่ายทอดความเข้าใจระหว่างผู้แสดงกับผู้ดูการแสดงนาฏการเป็นการเสนอสิ่งเร้าที่เป็นของจริง หรือเสมือนของจริง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนสนใจ และเอื้อประโยชน์ให้เกิดการเรียนรู้ได้สะดวก นาฏการสามารถจัดลำดับการเสนอเป็นเรื่องราวให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเสมือนว่าตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย
1. คุณค่าของนาฏการ
1.1 ทำให้บทเรียนเป็นจริงเป็นจัง น่าสนใจ เกิดความประทับใจและจดจำได้นาน
1.2 นักเรียนได้ฝึกทักษะทางภาษา
1.3 ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกได้เข้าใจ
1.4 ฝึกความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาร่วมกัน
1.5 สร้างและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้เรียนไปในทางที่ดี
1.6 ช่วยระบายความเครียดและสนองความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก
2.ประเภทของนาฏการ
 ประเภทของนาฏการแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
         2.1 ประเภทของนาฏการที่แสดงด้วยคนได้แก่ การแสดงละคร ละครใบ้ หุ่นชีวิต การแสดงกลางแปลง และการแสดงบทบาทสมมุติ
            2.1.1 การแสดงละคร (Play) เป็นการแสดงที่เห็นถึงความเป็นอยู่อุปนิสัยหรือวัฒนธรรมหรือทั้งสามรวมกันในการแสดงละครจะต้องจัดให้ใกล้เคียง กับสถานการณ์จริง ๆ มากที่สุดโดยอาจต้องจัดสภาพแวดล้อม จัดฉากการแต่งกายและส่วนประกอบต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมบทการฝึกซ้อม
            2.1.2 ละครใบ้และหุ่นชีวิต(Pantomime and Tableau) ละครใบ้เป็นการแสดงลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวและสีหน้าให้ผู้ดูเข้าใจ โดยผู้แสดงไม่ต้องใช้คำพูดเลย  การแสดงเช่นนี้ช่วยฝึกพัฒนาการในด้านการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ให้ผู้ดูเข้าใจ
            2.1.3  การแสดงกลางแปลง (Pageant) เป็นการแสดงกลางแจ้ง เพื่อการถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้านตลอดถึงประเพณีหรือพิธีการต่าง ๆ ในท้องถิ่น โดยใช้ผู้แสดงหลายคน
            2.1.4 การแสดงบทบาท (Role Playing) เป็นการแสดงโดยใช้สถานการณ์จริง หรือเลียนแบบสถานการณ์จริงในสภาพที่เป็นปัญหา มาให้ผู้เรียนหาวิธีแก้หรือใช้ความสามารถความคิดในการวินิจฉัย ตัดสินปัญหาในช่วงเวลา 10-15 นาที การแสดงแบบนี้ส่วนมาก ไม่มีการซ้อมหรือเตรียมการล่วงหน้า ผู้แสดงจะใช้ความสามารถและแสดงบทบาทไปอย่างอิสระ
       2.2 ประเภทของนาฏการที่แสดงด้วยหุ่น ได้แก่ หนังตะลุง หุ่นเสียบไม้ หุ่นสวมมือ และหุ่นชักใย
            หุ่น (Puppets) เป็นตัวละครที่ไม่มีชีวิต เคลื่อนไหวด้วยการกระทำของมนุษย์เรา สร้างหุ่นด้วยวัสดุง่าย ๆ เพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวและแนวคิดต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนโดยเฉพาะกับเด็กในวัย 2-6 ปี เด็กในวัยนี้ชอบการเล่น สมมุติ และเรื่องราวที่เป็นจินตนาการ การเคลื่อนไหวของหุ่นจึงสามารถเร้าความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี
ประเภทของหุ่นมีหลายประเภทแตกต่างกันดังนี้
        2.2.1 หุ่นเงา (Shadow Puppet) เป็นหุ่นที่ฉลุจากหนังสัตว์ หรือกระดาษแข็งแล้วใช้ไม้ไผ่ยึดเป็นโครงสำหรับเชิดและบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว เวลาแสดงจะต้องใช้ตัวหุ่นอยู่หลังจอ แล้วใช้แสงส่องให้เกิดเงาบนจอ เช่น หนังตะลุง
         2.2.2 หุ่นเสียบไม้ หรือหุ่นกระบอก (Rod Puppet) เป็นหุ่น 3 มิติที่ใช้แท่งไม้เสียบกับคอหุ่นเพื่อให้ผู้เชิดถือขณะเชิดหุ่นการทำหุ่นชนิดนี้มีตั้งแต่แบบยาก ๆ เช่น กระพริบตา ขยับปากได้จนถึงแบบง่าย ๆ ที่ไม่มีส่วนเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้ เวลาแสดงหุ่นแบบนี้ผู้เชิดหุ่นจะอยู่ตอนล่างด้านหลังของเวที
          2.2.3 หุ่นสวมมือ (Hand Puppet) เป็นหุ่นขนาดเล็กครึ่งตัวมีขนาดพอเหมาะกับขนาดของมือที่เชิดหุ่นหัวหุ่นทำด้วยกระดาษหรือผ้าเป็นหัวคน หรือสัตว์ มีเสื้อต่อที่คอหุ่นใต้ลำตัวและแขนกลวง เพื่อสอดมือเข้าไปเชิดให้เกิดการเคลื่อนไหวเนื่องจากหุ่นมือเป็นหุ่นที่ทำได้ง่าย เชิดง่าย จึงนิยมนำมาใช้ในการเรียนการสอนมากกว่าหุ่นชนิดอื่น   
         2.2.4  หุ่นชัก (Marionette) เป็นหุ่นเต็มตัว ที่ใช้เชือก ด้าย หรือไนล่อนผูกติดกับอวัยวะต่าง ๆ ของหุ่น แล้วแขวนมาจากส่วนบนของเวที ผู้ชักหุ่นจะบังคับเชือกควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นให้ทำกิริยาท่าทางต่าง ๆ ได้คล้ายคนจริง ๆ แต่การบังคับหุ่นทำได้ยากและต้องใช้เวลาฝึกฝนนานจึงไม่ค่อยได้นำมาใช้ในวงการศึกษามากนัก
   คุณค่าของหุ่น
        1. หุ่นใช้แสดงเรื่องราวต่าง ๆ ได้สะดวกและง่ายกว่าการแสดงโดยใช้คนจริง ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
        2. ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างทั่วถึง
        3. พัฒนาทักษะในการเขียน การคิด การแสดงออก การทำงานกลุ่มและช่วยเหลือเด็กขี้อายให้มีความกล้ามากขึ้น
        4. ผู้เรียนทุกคนพอใจและสนใจในการเรียน
  - หลักการใช้หุ่นกับการสอน
        1. เวลาที่ใช้แสดงควรเป็นช่วงสั้น ๆ
        2. พิจารณาว่าได้ประโยชน์คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงเพียงไร เพราะการใช้นาฏการอาจต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเครื่องแต่งกาย และวัสดุต่าง ๆ
       3. พยายามให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงให้มากที่สุด แม้จะไม่ได้เป็นตัวละครก็ควรให้มีส่วนในการวางแผน ช่วยเหลือการแสดงและประเมินผล
      4. จัดนาฏการให้เหมาะสมกับพื้นฐานความรู้ ความสนใจ และวุฒิภาวะของเด็ก
      5. ควรใช้สื่อการสอนอื่นมาประกอบด้วย
      6. ควรเลือกแสดงในเรื่องที่สามารถทำเรื่องยากให้ง่ายต่อการเข้าใจ เรื่องนามธรรมให้เป็นรูปธรรม หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรมต่าง ๆ
     7. จัดนาฏการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
         
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น